การทำเกษตรพอเพียงหรือเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรกรยังคงทำการเพาะปลูกได้ปีละครั้ง ในช่วงฤดูฝนเท่านั้น เพราะเหล่าเกษตรกรได้ประสบปัญหาหลัก อยู่เป็นประจำก็คือการขาดแคลนน้ำเพื่อเกษตรกรรม ยิ่งในเขตพื้นที่การเกษตรที่ต้องอาศัยน้ำฝน และยังเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตที่มีฝนตกค่อนข้างน้อย ซึ่งส่วนมากเป็นนาข้าวและพืชไร่ ถือได้ว่ามีความเสี่ยงกับความเสียหาย แม้ว่าจะมีการขุดบ่อเก็บน้ำไว้ใช้บ้าง แต่ก็มีปัญหาให้มีน้ำใช้ไม่เพียงพอ ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้พระราชทานพระราชดำริ “ทฤษฎีใหม่" หรือการเกษตรพอเพียงเพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤติในการขาดแคลนน้ำ
แนวทางการเกษตรพอเพียง
การทำเกษตรพอเพียง ใช้หลักการในการบริหารการจัดการที่ดิน และน้ำ เพื่อสามารถทำการเกษตรพอเพียงในที่ดินขนาดเล็กโดยจัดแบ่งออกเป็นสัดส่วนที่ชัดเจนให้เกิดประโยชน์สูงสุด และมีการคำนวณ เกี่ยวกับปริมาณน้ำที่จะกักเก็บให้เพียงพอต่อการเพาะปลูกได้ตลอดปี มีการวางแผนที่สมบูรณ์แบบ สำหรับการทำเกษตรพอเพียงซึ่งเป็นระบบการผลิตแบบพอเพียง ที่เกษตรกรสามารถทำเพื่อเลี้ยงตัวเองได้ในระดับที่ประหยัด
การแบ่งพื้นที่ของการทำเกษตรพอเพียง
การทำเกษตรพอเพียงทฤษฎีใหม่ขั้นต้นด้วยการจัดสรรพื้นที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน โดยแบ่งพื้นที่ ออกเป็น ๔ ส่วน คือพื้นที่ส่วนที่หนึ่ง ประมาณ ๓๐% เอาไว้สำหรับขุดสระเก็บกักน้ำ เพื่อเก็บกักน้ำฝนในฤดูฝน โดยสามารถนำมาใช้เสริมการปลูกพืชในฤดูแล้ง และนำมาเลี้ยงสัตว์น้ำ พืชน้ำต่างๆ และให้ปลูกข้าวในฤดูฝนใน พื้นที่ส่วนที่สอง ประมาณ ๓๐% เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวันสำหรับครอบครัวเพื่อให้เพียงพอตลอดปี เป็นการตัดค่าใช้จ่ายและสามารถพึ่งตนเองได้ ให้ปลูกไม้ผล หรือไม้ยืนต้นในพื้นที่ส่วนที่สาม ประมาณ ๓๐% และพืชผัก พืชไร่ หรือพืชสมุนไพรต่างๆ เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวัน เมื่อเหลือจากบริโภคก็นำไปจำหน่ายได้ ส่วนพื้นที่ ๑๐% เป็นที่อยู่อาศัยที่สามารถเลี้ยงสัตว์และโรงเรือนอื่นๆได้
หลักการสำคัญของการทำเกษตรพอเพียง
หลักการทำเกษตรพอเพียงในชุมชนจะต้องมีความสามัคคี เพื่อร่วมมือร่วมใจในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายต่างๆ และการปลูกข้าวซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักที่เรียกว่าทุกครัวเรือนจะต้องบริโภค ประมาณว่าครอบครัวหนึ่งทำนาห้า
ไร่ จะทำให้มีข้าวพอกินตลอดทั้งปี โดยไม่ต้องซื้อหาข้าวในราคาแพง แต่ก็ต้องมีน้ำเพื่อการเพาะปลูกสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง
และจำเป็นที่จะต้องกันที่ดินส่วนหนึ่งไว้สำหรับขุดสระน้ำโดยมีหลักการว่า จะต้องมีน้ำเพียงพอสำหรับที่จะทำการเพาะปลูกได้ตลอดปีได้
อัตราส่วนดังกล่าวเป็นหลักการโดยประมาณ สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ได้ตามความเหมาะสม ซึ่งจะขึ้นอยู่กับสภาพของพื้นที่ดินและปริมาณน้ำฝนและสภาพแวดล้อม สามารถอาจลดขนาดของบ่อหรือสระน้ำให้เล็กลงได้ เพื่อเก็บพื้นที่ไว้ใช้ประโยชน์อย่างอื่นต่อไปได้